ระยะห่างของหลุมเจาะ
ในกรณีที่ยังไม่ได้กำหนดผังอาคารที่แน่นอนในพื้นที่โครงการก่อนการเข้าเจาะสำรวจดิน และพื้นที่โครงการมีขนาดใหญ่ เพื่อความเหมาะสมอาจจะกำหนดหลุมเจาะเป็นตาราง (Grid) มีระยะห่างพอสมควรและเท่ากัน เช่น ระยะห่าง 20-40 เมตร เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่จะเสียค่าใช้จ่ายเจาะหลุมเจาะที่ไม่มีอาคารก่อสร้างในจุดนั้นๆ ในขั้นนี้จึงควรลดค่าใช้จ่ายโดยการแทรกทำการเจาะหยั่ง (Probing, Sounding) ร่วมด้วย ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนหนึ่ง เนื่องจากการเจาะหยั่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า แต่ยังได้ข้อมูลโดยรวมของพื้นที่บริเวณ อนึ่งถ้าในพื้นที่บริเวณโครงการ มีส่วนที่ไม่ปกติ เช่น บ่อน้ำ (ที่จะต้องถม) แนวทางน้ำไหล คูน้ำ คลองเก่า จะต้องกำหนดหลุมเจาะใกล้ตำแหน่งดังกล่าวด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลพอเพียง
การกำหนดตำแหน่งหลุมเจาะ ถ้าเป็นไปได้ เมื่อไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ เช่น อาคารเก่า ไม่มีถนนเข้า เป็นบ่อน้ำขัง จะต้องกำหนดตำแหน่งหลุมเจาะให้ใกล้ตำแหน่งฐานรากอาคารที่จะก่อสร้างมากที่สุด ซึ่งจะมีความสำคัญมากในกรณีที่ชั้นดินในโครงการมีความไม่สม่ำเสมอ จะต้องทำระดับ (Level) อ้างอิงปากหลุมเจาะให้แน่นอนในกรณีที่มีการสำรวจผังบริเวณโครงการและทำหมุดอ้างอิง (Reference Benchmark) ไว้ในโครงการ หรือถ้าเป็นโครงการเล็กที่ไม่ได้ทำการสำรวจพื้นที่โครงการ ก็อาจจะอ้างอิงระดับกับโครงสร้างถาวรภายในโครงการ หรือข้างเคียง เช่น ผิวคอนกรีต หัวตอม่อสะพาน ผิวถนน เป็นต้น และจะต้องบันทึกในหลุมเจาะว่า เจาะจากผิวดินเดิม หรือผิวดินถม ฯลฯ ซึ่งข้อมูลระดับทั้งหมดจะทำให้สามารถกำหนดความลึกฐานแผ่ หรือความยาวเสาเข็มได้ถูกต้อง เมื่อมีการปรับพื้นบริเวณโครงการภาย เช่น หลังมีการตัด (Cut) หรือถม (Fill)